Sunday, October 7, 2012

เบาหวานกับโรคหัวใจ – Diabetic Heart Disease

เบาหวานกับโรคหัวใจ – Diabetic Heart Disease


(ที่มาของรูป http://www.nhsggc.org.uk/content/default.asp?page=s1419_12_1)
หรือเรียกว่า “โรคหัวใจในเบาหวาน” คือโรคหัวใจที่เกิดจากการเป็นเบาหวาน เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงกับ ของผู้ไม่เป็นเบาหวานพบว่า
  • มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ
  • มีปัจจัยสาเหตุที่นำไปสู่โรคหัวใจ
  • อาจเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย
  • อาจจะมีความรุนแรงของโรคหัวใจมากกว่าคนอื่น
หลอดเลือดหัวใจตีบ
คือการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวเริ่มเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมันในเส้นเลือดสูงจะทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดที่จะ ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งทำให้หัวใจขาดเลือดและอาจนำไปสู่สภาวะ ไตวาย ได้ และในผู้ป่วยเบาหวานบางรายพบว่า กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้น้อยกว่าปกติ แต่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน จึงเชื่อว่าเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ซึ่งเป็นผลมาจากเบาหวาน
หัวใจล้มเหลว
คือสภาวะที่หัวใจไม่สามารถ ปั๊มเลือดแล้วส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างทันท่วงที โดย หัวใจล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่า หัวใจนั้น หยุด เต้น แต่อย่างไรก็ตาม อาการหัวใจล้มเหลวนั้น อันตรายมากและต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที
ถ้าคุณมีอาการหัวใจล้มเหลว มีวิธีการรักษาพื้นฐานง่ายๆ คือ ให้ลด หรือ จำกัด กิจกรรมที่เกิดขึ้น ได้ (เพื่อให้หัวใจทำงานน้อยลง)
อาการ
อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้
  • เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการ สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรค หลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีด เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
  • ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้น ด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน
  • เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจ เป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจ ได้
  • หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิด ปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุ
ผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหัวใจได้ 2 ลักษณะ คือ
  • เมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อม จากเบาหวานร่วมกับการที่มีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหากอุดตัน ก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา
  • นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยเบาหวานบางราย กล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยกว่าปกติ และบีบตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน กลุ่มนี้เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากเบาหวาน
สาเหตุการตายที่สำคัญในผู้ป่วยเบาหวาน คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญ ที่พบบ่อยที่สุด
ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน มีสาเหตุการตายจากภาวะไตวาย และโรคหลอดเลือดหัวใจสูงสุดใกล้เคียงกัน
นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวานยังมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันสูงกว่าประชาการทั่วไปหลายเท่าตัว
การรักษา
  • รักษาตามอาการ ให้ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด แอสไพริน (ถ้าไม่มีข้อห้าม)
  • หากควบคุมอาการไม่ได้ดี ควรฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือ ผ่าตัดหัวใจ (บายพาส)
  • หากเกิดหลอดเลือดอุดตันภายใน 6 ชม. แพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนทันที
การป้องกัน
  • ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ ปกติ เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของ หลอดเลือดแดงทั่วทั้งร่างกาย
  • ต้องควบคุมระดับความดันของร่างกาย ให้ไม่เกิน 130/80 เพื่อลดภาระของหัวใจ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยก็ได้
  • ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย อยู่เสมอ ด้วยการลดน้ำหนักทำให้ร่างกาย รับ อินซูลินได้ดีขึ้น และควรออกกำลังกายแบบเบาๆ ไม่ให้เป็นภาระแก่ร่างกายมากนัก
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบไต
  • ตรวจตา โดยจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสอบโรคเบาหวานขึ้นตา
  • ควรตรวจหัวใจอย่างละเอียด ด้วย อัลตราซาวน์หัวใจ และการเดินสายพาน เพราะมีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจและไม่แสดงอาการจนกระทั่งเป็นมาก แล้ว
  • เมื่อมีปัญหาทางสุขภาพ ให้สอบถามจากแพทย์ และ ทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มี ความหวาน มาก
ปัจจัยเสี่ยง
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง
  • กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และในเพศหญิงคือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว
  • คนที่เป็นโรคอ้วนหรือโรคอ้วนลงพุง คือมีรอบเอวใหญ่กว่ารอบสะโพก ตลอดจนการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกาย
  • โรคเบาหวานถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญในประเทศไทย
ข้อมูลทางสถิติ / แนวโน้ม
  •  คนที่เป็นเบาหวาน มักจะเป็นโรคหัวใจด้วยในภายหลัง และสามารถเป็นโรคหัวใจได้เร็วกว่าคนทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวาน
  • สำหรับคนที่ป่วยเป็นเบาหวานแล้วเกิดโรคแทรกซ้อน คือโรคหัวใจนั้นอยู่ที่ 50% โดยเฉพาะคนป่วยเป็นเบาหวานมาระยะเวลานาน ยิ่งต้องระวังเพราะมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมปัจจัยหลายๆ อย่างด้วย
  • ตามสถิติผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและเป็นโรคหัวใจด้วย จะมีโอกาสเสียชีวิตถึง 40% แต่ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ จะมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 15%

0 comments:

Post a Comment