Monday, December 3, 2012

เบาหวาน-หลอดเลือดแดงแข็ง-โรคหัวใจ

Pic_304045


มีการกล่าวขานหลายๆ อย่างเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เบาหวานทำให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวานทำให้เกิดอัมพาต เบาหวานทำให้ตาบอด เบาหวานทำให้ไตวาย เบาหวานทำให้ถูกตัดขา ฯลฯ

แล้วผู้ที่เป็นเบาหวาน กลัวอะไรมากที่สุด บางคนกลัวตาบอด บางคนกลัวล้างไต บางคนกลัวเป็นอัมพาต บางคนกลัวถูกตัดขา หลากหลายต่างๆ กันไป แน่นอน....ถ้าไม่เกิดขึ้นดีที่สุด แต่....คงไม่โชคดีตลอดไป ถ้าเกิดโรคแทรกซ้อน นั่นคงหมายถึงต้องทุกข์ทรมานตลอดชีวิต

เบาหวานตายจากอะไรมากที่สุด

คง ไม่ยากที่จะเดาคำตอบได้ว่า เบาหวานตายจากโรคหัวใจมากที่สุด คนที่เป็นเบาหวานเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็น 2-4 เท่า และโรคหัวใจที่ทำให้เกิดอัตราตายสูงสุดคือโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี (coronary heart disease)


นั่น หมายความว่า ต้องมีการตีบของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจจึงทำให้เกิดภาวะหัวใจขาด เลือด  การที่หลอดเลือดแดงตีบก็ต้องเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ (คือหลอดเลือดแดงโคโรนารี)

เบา หวานเป็นปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดแดงแข็ง แต่เบาหวานและหลอดเลือดแดงแข็งเป็นกระบวนการคนละอย่างกัน การเปลี่ยนแปลงในพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงแข็งอาจเกิดขึ้นก่อนการเป็นเบา หวานหลายปีหรืออาจนับสิบปี ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นเบาหวานครั้งแรกพบมีพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดง แข็งแล้วถึง 50%!!
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเป็นสาเหตุนำไปสู่การตายในเบา หวานถึง 65% โดย 40% มาจากหัวใจขาดเลือด อีก 15% มาจากโรคหัวใจอย่างอื่น และที่เหลือ 10% จากสมองขาดเลือด จะเห็นว่าสาเหตุการตายที่พบบ่อยที่สุดทั้ง 3 ประการนี้ มาจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

ทำไมเบาหวานจึงไปเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแดงเข็ง

ภาวะ ดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) เป็นสาเหตุสำคัญของเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการเมตะบอลิกด้วย ภาวะดื้อต่ออินซูลินพบในเบาหวานประเภทที่ 2 ประมาณ 85-90% และจะคงสภาพนี้ไปตลอด เมื่อการหลั่งอินซูลินลดลง น้ำตาลในเลือดเริ่มสูงขึ้น โดยน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงขึ้นก่อนน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร เมื่อระดับอินซูลินลดลงถึงระดับหนึ่งน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารจึงเริ่มสูง ขึ้น โดยทั่วไปหน้าที่ตับอ่อนในการสร้างอินซูลินจะสูญเสียไปประมาณ 50% ขึ้นไป น้ำตาลในเลือดขณะอดอดอาหารจึงเริ่มสูง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เบาหวานเป็นความผิดปกติที่มีการดำเนินของโรคอย่างต่อเนื่อง หน้าที่ของตับอ่อนจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เป็นนานขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะเป็นมากขึ้น น้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นตามระดับของอินซูลินที่ลดลง ในขณะที่ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังคงสูงเหมือนเดิม

ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ยังมีความสัมพันธ์กับความอ้วน มีเพียงประมาณ 20% ของผู้ที่อ้วนเท่านั้นที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในขณะที่ผู้ที่ผอมหรือมีน้ำหนักปกติมีภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ประมาณ 20% เช่นกัน  นอกจากอ้วนแล้ว ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง (ไตรกลีเซอไรด์สูง, ไขมันเอชดีแอลซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่ำ) ตลอดจนรบกวนหน้าที่ของเยื่อบุเซลล์ชั้นในของผนังหลอดเลือดด้วย (endothelial cell) ความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งทั้งสิ้น (จริงๆ แล้วมีมากกว่านี้อีกหลายอย่าง)

ภาวะดื้อต่ออินซูลินจึงเป็นเหตุสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งและเบาหวาน

น้ำตาล ในเลือดที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงโดยตรงที่กระตุ้นกระบวนการของหลอดเลือด แดงแข็ง ความผิดปกติในกระบวนการเมตะบอลิสม ก่อให้เกิดการสร้างสารเคมีหรือกระบวนการบางอย่างที่ไปมีส่วนทำลายหลอดเลือด แดง เช่น การทำหน้าที่ของเยื่อบุเซลล์ชั้นในของผนังหลอดเลือดแดง (endothelial cell) ผิดปกติ ทำให้สูญเสียกลไกการป้องกันหลอดเลือด และไปกระตุ้นกระบวนการทำลายหลอดเลือดแทนการเพิ่มอนุมูลอิสระ และเพิ่ม oxidative stress การเปลี่ยนแปลงในกลไกการแข็งตัวของเลือดให้มีการเกาะจับตัวของเลือดได้ง่าย ขึ้น การกระตุ้นกลไกการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดง การเพิ่มการจับตัวของน้ำตาลกลูโคสกับสารโปรทีนบางอย่าง (glycosylation) ซึ่งเป็นเสมือนสารพิษในร่างกาย และ ฯลฯ


เบาหวานจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงโดยตรงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

เมื่อ เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง จะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย กลไกการเกิดจะค่อยๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงระดับที่เลือดไหลเวียนสู่อวัยวะที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ ก็เกิดเป็นโรคขึ้น ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการขาดเลือด อวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวกับการดำรงชีพคือหัวใจ เมื่อหัวใจขาดเลือดนำไปสู่อาการและโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง รวมทั้งการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

จงอย่าประมาท อยู่อย่างมีสติและปัญญา และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อเบาหวาน-หลอดเลือดแดงแข็ง-โรคหัวใจกันเถิด

ยากหรือไม่ที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะป้องกันเบาหวาน
ทำอย่างไรที่วินิจฉัยเบาหวานแต่แรกเริ่ม
รักษาเบาหวานให้เหมือนปกติได้จริงหรือ
คงต้องบอกว่า “ไม่ลอง ไม่รู้”  ถ้า “ไม่รู้ ก็น่าจะลอง” เพราะถ้า “ลองแล้ว จะรู้”

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเวชธานี

0 comments:

Post a Comment