Friday, September 14, 2012

รู้จัก...หัวใจ


 
       คุณ รู้จักหัวใจตัวเองดีพอหรือยัง และเคยใส่ใจหัวใจตัวเองบ้างหรือเปล่า ลองคิดดูสิว่าถ้าหัวใจอ่อนล้าหรืออ่อนแอ มันจะส่งผลต่อเรามากเพียงใด แล้วคุณจะยังไม่ใส่ใจหัวใจตัวเองได้อย่างไรกัน อย่างน้อยก็รู้จักที่จะถนอมหัวใจให้อยู่กับเราเอาไว้นาน ๆ

       “หัวใจ” ที่ว่านี้คือหัวใจของเราซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ไม่ได้หมายถึงหัวใจในด้านของความรู้สึกแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นอวัยวะภายในที่สำคัญแต่มักถูกมองข้าม ปล่อยปละละเลยจนส่งผลให้ “โรคหัวใจ” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว เห็นไหมว่าทำไมเราถึงต้องรู้จักและใส่ใจหัวใจตัวเอง
หัวใจทำงานอย่างไร
       หัวใจของเราเริ่มเต้นเป็นจังหวะตั้งแต่เป็นทารก อยู่ในท้องของคุณแม่เราแล้ว ความพิเศษของหัวใจที่มีขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย มีลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ทำหน้าที่ ปิดเปิดให้เลือดผ่านเข้าออกหัวใจไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีการไหลย้อนกลับ และกล้ามเนื้อหัวใจสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เอง โดยกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเริ่มจากหัวใจห้องขวาบน เรียกว่า Sinus Node แล้วกระจายออกไปตามเซลล์นำไฟฟ้าซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในหัวใจเรา เริ่มจากขวาไปซ้ายและลงล่าง เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกกระแสไฟฟ้าก็จะเกิดการหดตัวขึ้นทำให้เกิดการ บีบตัวของห้องหัวใจ ดังนั้น การบีบตัวของห้องหัวใจจึงเริ่มจากด้านขวามาด้านซ้ายและห้องบนก่อนห้องล่าง

       ในคนปกติขณะพัก หัวใจจะบีบตัวประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ และประมาณ 80-100 ครั้ง/นาที ในเด็ก แต่ในขณะออกกำลังกายหัวใจจะบีบตัวเร็วขึ้น บางครั้งอาจถึง 150-180 ครั้ง/นาที คนที่เป็นนักกีฬาหัวใจอาจเต้นช้ากว่า 60 ครั้ง/นาที

       จะเห็นได้ว่า ระบบไฟฟ้าหัวใจมีประสิทธิภาพมากในการควบคุมวงจรการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ แต่ละห้องหัวใจสัมพันธ์กัน ดังนั้น ไม่ว่าระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัว ย่อมมีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น
สัญญาณบอกอาการโรคหัวใจ
       "โรคหัวใจ" เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก โดยอาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจมีไม่มากเท่าไหร่นัก ทว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีลักษณะของอาการที่เป็นสัญญาณการเกิดโรคหัวใจ เรามาดูกันว่าถ้าเกิดอาการแบบไหนแล้วเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
       อาการเจ็บหน้าอก
       อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้ว ยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบของอวัยวะเหล่านี้อาจ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ แต่ลักษณะอาการนั้นแตกต่างกันไป

       อาการต่อไปนี้อาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด
       1. เจ็บแน่น ๆ บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้ายหรือทั้ง 2 ด้าน บางรายร้าวไปที่แขนซ้ายหรือทั้ง 2 ข้าง อาจจุกแน่นที่คอหรือเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟันมักเกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็ว ขึ้นบันได หรือโกรธ อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดทำกิจกรรมดังกล่าว
       2. บางรายที่อาการรุนแรงอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง นอน หรือหลังอาหารก็ได้
       3. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมากและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เป็นลม
       อาการต่อไปนี้ไม่ใช่อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
        1. เจ็บแหลม ๆ คล้ายเข็มแทง เจ็บแปลบ ๆ จุดเดียวบริเวณหน้าอก อาจเกิดขึ้นในขณะนั่งพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน มีอาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือหายใจเข้าลึก ๆ อาจเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ-เท้า
        2. อาการตามข้อ 1. อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
        อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้วต้องอาศัยประวัติอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อก็ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย
       อาการหอบ เหนื่อยง่าย
       อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ โรคโลหิตจาง โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) หรือเกิดขึ้นเพราะความวิตกกังวลที่เรียกว่า โรคแพนิค ซึ่งทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายที่เกิดจากโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยมักเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรงจะเหนื่อยแม้ขณะพัก บางรายเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ ต้องนอนศีรษะสูงหรือนั่งหลับ
       โดยคำว่า เหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึงอาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ โดยถ้าเป็นอาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นหรือชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ) อาการเหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ
       อาการใจสั่น
       อาการใจสั่นในความหมายแพทย์ หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ พบได้ทั้งในคนปกติ โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่มีผลต่อหัวใจ อาทิ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด ในการวินิจฉัยแพทย์จะ ซักประวัติถึงลักษณะของอาการใจสั่นที่เกิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึกใจสั่นทั้ง ๆ ที่หัวใจเต้นปกติ
       การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่นเป็น เรื่องที่ทำ ได้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อไปพบ แพทย์อาการมักหาย ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้น เราควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเองเมื่อมีอาการใจสั่นนั้นหัวใจเต้นกี่ครั้งใน เวลา 1 นาที สม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น
       อาการขาบวม
       อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือและน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต โรคหลอดเลือดดำอุดตัน โรคตับ จากยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือในบางรายไม่พบสาเหตุ (Ldiopathic Edema) อาการบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง ทำให้เลือดจากขาไม่สามารถไหลเวียนเข้าหัวใจด้านขวาได้สะดวกจึงมีเลือด ค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อ หุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็มีอาการนี้ได้เช่นกัน เมื่อมีอาการ ขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบเพื่อหาสาเหตุการเกิดอาการ จึงจะให้การรักษาได้ถูกต้อง
       อาการเป็นลมหรือวูบ
       คำว่า "วูบ" หมายถึง การหมดสติ หรือเกือบหมดสติชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน มีอาการอยู่ชั่วขณะ แต่ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หายใจไม่ออก อาการดังกล่าวอาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง อาทิ ลมชัก เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงหรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือความผิดปกติ ของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้น "อาการวูบ" ยังอาจพบได้ในคนปกติที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย หรือ เกิดจากยาลดความดันโลหิตได้อีกด้วย
การตรวจทางโรคหัวใจ
       สำหรับการตรวจทางโรคหัวใจต้องอาศัยประวัติ อาการอย่างละเอียด เพื่อดูว่าอาการดังกล่าวนี้เกิดจากโรคหัวใจแน่หรือไม่ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหัวใจ แพทย์อาจต้องซักประวัติโดยทั่ว ๆ ไปด้วย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจรวมไปถึงประวัติการใช้ยาและการรักษา ต่างๆ โดยที่การตรวจทางโรคหัวใจ สามารถแบ่งได้ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
       ส่วนที่ 1 การตรวจพื้นฐาน
       การตรวจร่างกาย เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง และอ้วนหรือไม่ การจับชีพจรหาอัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกติไหม โดยที่แพทย์จะตรวจร่างกายในระบบอื่น ๆ ด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และดูโรคอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วยจากอาการที่ปรากฏ
       คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกถึงโรคของเยื่อหุ้มหัวใจบางชนิด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะเห็นอาการผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่ รุนแรงแล้ว อาทิ หัวใจ ขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ดังนั้น จะต้องทำความเข้าใจด้วยว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ เป็นโรคหัวใจ
       เอกซเรย์ทรวงอกหรือเอกซเรย์ปอด จะทำให้เห็นถึงการกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือหัวใจล้มเหลว
       ตรวจเลือด เป็นการตรวจหาระดับสารต่าง ๆ ในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรงแต่เป็น การดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ อาทิ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ที่มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค  
       ส่วนที่ 2 การตรวจพิเศษทางโรคหัวใจ
       การตรวจในส่วนที่ 2 นี้ต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ใน การตรวจตามอาการที่ปรากฏในข้างต้น เพราะแพทย์จะได้วินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นอาการจากโรคหัวใจหรือไม่ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษา ได้แก่
       - การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
       - การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
       - การทดสอบการเป็นลมด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test)
       - การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter หรือ Ambulatory ECG monitoring)
       - การสวนหัวใจและฉีด "สี" ดูหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization and Angiogram)
       - การตรวจระบบไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiologic Study)
       แต่อาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาการคล้ายกัน แต่การวินิจฉัยแพทย์ต้องทำการซักอาการและประวัติโดยละเอียดร่วมกับการตรวจ ร่างกาย เพื่อแยกโรคต่าง ๆ ที่มีอาการคล้ายกัน
       ดังนั้น เมื่อเราทราบแล้วว่าหัวใจของเราทำงานอย่างไร และถ้าเรามีอาการที่ผิดปกติจะมีอัตราเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจหรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรเสียเราเองก็ควรหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย อย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ก็สามารถลดอัตราการเสี่ยงในการเกิดโรคได้อย่างดีเยี่ยมที่สุดแล้ว
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
สมาคมแพทย์โรคหัวใจ 

0 comments:

Post a Comment